ในยุคที่เทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนอยู่ทุกวินาที และส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค การเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ เพื่อคาดคะเนพฤติกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ  เนื้องานของตำแหน่ง data analyst แต่ละบริษัทจะมีความแตกต่างกันไป แต่หัวใจหลักของสิ่งที่เราทำคือการวิเคราะห์และสรุปผลข้อมูล (ขนาดใหญ่) อย่างแม่นยำและตอบโจทย์ทางธุรกิจ

Data Analyst คือ ใคร?

Data Analystคือ นักวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ข้อมูลจากโมเดล หรือเครื่องมือของ Data Scientist ในการวิเคราะห์พยากรณ์พฤติกรรม เพื่อหาแนวโน้ม หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติจากแนวโน้มเดิม โดยอาศัยประสบการณ์ วิธีการทางสถิติ และมุมมองที่เฉียบขาด ซึ่งData Analyst คือ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่า Data Scientist อาทิ Marketing Analysis หรือ Logistics Analysis เป็นต้น

ลักษณะการทำงานของData Analyst

การทำงานของนักวิเคราะห์ข้อมูลจะเน้นการใช้ฐานข้อมูลเดิมของผู้บริโภค หรือ Big Dataมาใช้ในการวิเคราะห์ ทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค โดยเริ่มจากการตีความโจทย์ธุรกิจ เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน และเลือกใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ แล้วจัดทำรายงาน Business Report เพื่ออัพเดทข้อมูลของลูกค้าให้สามารถนำไปใช้งานในฝ่ายอื่นได้ง่าย ตัวอย่างหน้าที่ของData Analyst

– Data Entry หรือการนำเข้าข้อมูล ซึ่งต้องแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ถูกต้อง พร้อมใช้งาน
– Analytic / Data Mining เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล และมองให้ความสัมพันธ์ของข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจในลำดับต่อไป
Reporting คือ การทำรายงานนำเสนอผู้บริหารในรูปแบบที่เข้าใจง่ายทั้งการสรุปรายงานประจำวัน ประจำเดือน หรือประจำปีด้วยการใช้เครื่องมือสรุปผลที่รวดเร็ว และเข้าใจง่าย
Support สนับสนุนแผนกอื่นให้สามารถนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ และสรุปตามความต้องการ (Criteria) แล้วไปใช้ต่อได้โดยง่ายผ่านระบบในที่ทำงาน เช่น ระบบบริหารจัดลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) หรือระบบบริหารจัดการข้อมูล (SAP) เป็นต้น
– Data Management คือ การจัดการข้อมูลที่มีอยู่ในมือทั้งหมด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับหน้าที่โดยตรงหรือไม่ก็ได้ โดยจัดเป็นหมวดหมู่ให้พร้อมใช้งานได้โดยง่าย

เครื่องมือหลักๆ ที่เราใช้ในงานประจำวันก็พวก MS Excel, SQL, some programming skills เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ใน database ของบริษัท ใช้ความรู้สถิติพื้นฐานในการสรุปผลข้อมูล เช่น mean, median, mode, sd, count ฯลฯ และนำเสนอข้อมูลด้วย visualization tools เช่น Tableau หรือ Power BI ในรูปแบบของ dashboard หรือ presentation deck

ทักษะพื้นฐานที่ควรมี

– Database เนื่องจากฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่มาก และต้องรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น
– Data Relational ความสัมพันธ์ของข้อมูลที่แสดงอยู่ในรูปแบบไฟล์ Excel โดยมี 3 ตาราง คือ ตารางยอดขาย ตารางข้อมูลพนักงานขาย และตารางลูกค้าที่ต้องมีการแยกเก็บเพื่อเชื่อมกับตารางอื่นๆ
– MS Excel เป็นหนึ่งตัวช่วยในการรวิเคราะห์ข้อมูล (Pivot) และจัดทำรายงานที่สามารทำโดยง่าย
– MS Access เครื่องมือที่ช่วยสร้าง Query ได้ง่าย สามารถเรียกดูข้อมูลได้แล้วไม่จำเป็นต้องเขียนคำสั่ง ช่วยในการทำงานที่มีปริมาณข้อมูลมาก ไม่สามารถทำได้ด้วย Excel ได้จริงๆ
– SQL ใช้ในการดึงข้อมูลเสมือนที่มีอยู่ในระบบ ทำให้ไม่จำเป็นต้องดึงข้อมูลออกมาทั้งหมด เพียงแต่เขียนเงื่อนไข where, and, or, join, select, from, group เพื่อดึงเฉพาะข้อมูลที่ต้องการออกมา

งานด้านนี้อาจดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับเด็กจบใหม่ แต่หากมีความตั้งใจจริง และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอก็สามารถเติบโตสายงานนี้ได้ โดยที่บางครั้งอาจจะไม่ได้เรียนจบจากสาขาวิศวะคอมพิวเตอร์ สถิติ หรือด้านที่เกี่ยวข้องก็สามารถเติบโตในสายงานนี้ได้เช่นกัน