ประสบการณ์ทำงาน ( Work Experience ) ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในเรซูเม่ ในการสมัครงานในระดับซีเนียร์ขึ้นไป เพราะเป็นสิ่งที่บอกว่าคุณมีความสามารถในการจัดการงานและปัญหาต่างๆในสายงานนั้นอย่างไร ซึ่งการเขียนประสบการณ์ทำงานที่ดีนั้นสามารถทำให้คุณมีโอกาสได้งานที่ตรงกับคุณได้สูงขึ้น และในบางครั้งประสบการณ์ทำงานที่ดีจะทำให้คุณได้เงินเดือนที่สูงขึ้นอีกด้วย วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีเขียน ประสบการณ์ทำงาน ใน Resume

การเขียน ประสบการณ์ทำงาน (Work Experience)

1. เขียนเฉพาะประสบการณ์ที่ใช้ได้ที่สุดในสายงานนั้นๆ

ในขั้นตอนแรกสุดเลยก็คือ เมื่อคุณคิดว่าคุณมีประสบการณ์ทำงานมากพอที่จะเขียนลงไปในเรซูเม่ของตัวเองแล้วล่ะก็ ก่อนอื่นคุณต้องมั่นใจว่าสิ่งที่คุณจะเขียนลงไปมันมีค่าในสายตาของผู้อ่านเรซูเม่ ซึ่งก็คือพนักงานสรรหาบุคลากร และผู้ที่จะสัมภาษณ์งานคุณ ซึ่งส่วนมากแล้วก็จะเป็น Supervisor หรือผู้จัดการ หรือหัวหน้าในสายงานของคุณนั่นเอง อย่าเขียนประสบการณ์ดาดๆที่ใครก็ได้สามารถทำมันได้ แต่ให้เลือกเขียนเฉพาะประสบการณ์ที่มีค่ามากๆก็พอ

2. เน้นประสบการณ์ที่ได้รับรางวัล (Achievement)

ถ้าหากคุณได้รับรางวัลอะไรในสายงาน ไม่ว่าจะเป็นผลงานส่วนตัวหรือผลงานของทีม ไม่ว่ารางวัลนั้นจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหน นี่แหล่ะคือสิ่งที่มีค่ามากๆที่ควรจะเขียนลงไปในเรซูเม่ แต่ถ้าคุณมีรางวัลมากล่ะก็ เลือกเขียนอันที่ใหญ่ที่สุดก่อน แล้วเรียงลำดับลงมาตามความสำคัญนะครับ

3. ประสบการณ์ ที่เกี่ยวกับเคส หรือลูกค้าที่โด่งดังในสายงานของคุณ

ในทุกๆสายงานย่อมจะรู้จักกันเองข้ามบริษัท ไม่มากก็น้อย ดั่งคำพูดที่ว่า “วงการมันแคบกว่าที่คิด” ซึ่งสิ่งนี้ใช้ได้กับทุกวงการเลยล่ะ ถ้าคุณมีประสบการณ์เคยทำงานในเคสที่ใหญ่ หรือทำงานร่วมกับลูกค้าที่ใครๆก็บอกว่าเป็นตัวแม่ของวงการแล้ว หรือมีแต่รายชื่อลูกค้าดังๆแล้วล่ะก็ คุณเองก็จะเนื้อหอมเอามากๆเลย ใครๆก็สนใจอยากจะสัมภาษณ์คุณ

4. ประสบการณ์ ที่ผ่านมาไม่มีอะไรเด่? ลองเขียนสิ่งที่ทำผ่านมาตรฐานดูสิ

ในบางสายงาน อย่างเช่น งานวิศวกร ที่คุณไม่มีโอกาสได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่คุณเป็นฟันเฟืองของบริษัทที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรอยู่เบื้องหลังแล้วล่ะก็ คุณสามารถเขียนสิ่งที่คุณทำแล้วผ่านมาตรฐานต่างๆดูสิครับ สิ่งนี้เองก็มีความสำคัญไม่น้อยหน้าสายงานอื่นๆเลยครับ มาตรฐานนี้สามารถเป็นได้ตั้งแต่มาตรฐานระดับโลกอย่าง ISO ลงมาจนถึงมาตรฐานของโรงงานที่ตัวเองทำอยู่ได้เลย ขอเพียงเขียนชื่อมาตรฐานให้ถูก อย่าสะกดผิด หรืออย่าเขียนลอยๆว่า “มาตรฐาน” เฉยๆโดยที่ไม่ได้ใส่ชื่อให้มันก็พอ

5. เขียนประสบการณ์ทำงานเรียงเป็นลำดับเอาล่าสุดขึ้นก่อน

ประสบการณ์ทำงานในเรซูเม่เป็นแบบ เรียงตามเวลา โดยเอาอันล่าสุดขึ้นก่อน ส่วนของเก่าก็อยู่ล่างๆ เรียงกับอย่างเป็นระบบระเบียบ ซึ่งสิ่งนี้มีประโยชน์แฝงอยู่หลายข้อด้วยกัน นอกจากเพื่อที่จะให้อ่านง่ายแล้ว ผู้ที่อ่านเรซูเม่ของคุณยังมองว่าคุณมีความสามารถในการจัดระเบียบได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

6. เน้นคีย์เวิร์ดให้ชัดเจน

เมื่อคุณเขียนเรซูเม่ของตัวเองและนำไปใช้ต่อ จะส่งให้ HR โดยตรง หรืออัพโหลดขึ้นเว็บไซท์สมัครงานต่างๆ คุณจะต้องคำนึงด้วยว่าพนักงานฝ่ายสรรหาบุคลากร จะค้นหาเจอเรซูเม่ของคุณได้อย่างไร ในกองเรซูเม่ขนาดใหญ่ที่พวกเขาได้รับในแต่ละวัน ซึ่งในยุคนี้ไม่มีใครเขาหยิบเรซูเม่มากองละหมื่นใบ แล้วมาอ่านกัน บริษัทส่วนใหญ่มีระบบดิจิทัลกันแล้ว ซึ่งสามารถค้นหาคำต่างๆที่ต้องการได้เพียงเสี้ยววินาที ดังนั้นสิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือ

  • ทำให้เรซูเม่ของตัวเอง สามารถค้นหาได้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือแปลงเป็น PDF เท่านั้น ถ้าหากคุณส่งเป็นกระดาษ หรือทำเป็นรูปไปล่ะก็มันจะค้นหาด้วยคีย์เวิร์คไม่ได้ คุณก็จะเสียเปรียบตรงนี้ไปอย่างมหาศาลเลยล่ะ
  • ถ้าต้องกรอกข้อมูลใหม่ ก็กรอกให้ครบ อย่าให้ขาด คนส่วนมากมักจะคิดว่าก็ส่งเรซูเม่ให้แล้ว ทำไมไม่อ่าน ทำไมยังต้องกรอกอีก ที่กรอกทั้งหมดนี้สามารถใช้ค้นหาได้อย่างรวดเร็วเลยล่ะครับ ถ้าคุณปล่อยว่างๆแล้วล่ะก็ เสียดายนะครับ
  • สะกดให้ถูก ใช้คำให้ถูก บางคำมีชื่อภาษาอังกฤษ ก็ใส่ไปเลยทั้งอังกฤษ ทั้งไทย เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะถูกค้นหาเจอ

เช่นถ้าคุณเป็นนักบัญชี และคุณเคยทำงานด้านตรวจบัญชีมาก่อน ก็ให้ว่า Audit หรือ Auditor ในภาษาอังกฤษ แล้วถ้าใส่คำภาษาไทยว่า “นักตรวจสอบบัญชี” ด้วยแล้ว ก็จะเพิ่มโอกาสในการถูกค้นหามากขึ้นไปอีกครับ

7. เด็กจบใหม่ให้เขียนเรื่องการฝึกงาน

ถ้าคุณเป็นเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานแล้วล่ะก็ ให้เขียนประสบการณ์ที่ได้รับตอนฝึกงานลงไปแทน หรือถ้าตอนเรียนคุณได้ทำงาน เฉพาะที่เกี่ยวข้องสายงานนะครับ ก็สามารถเขียนลงไปได้ เช่นถ้าคุณเรียนจบด้านสถาปนิกมา และต้องการสมัครงานสถาปนิก โดยที่ตอนเรียนอยู่เคยทำงานพาร์ทไทม์กับบริษัทออกแบบโครงสร้างอาคารแล้วล่ะก็ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างเป็นพนักงานเดินเอกสาร ก็ใส่มันลงไปเถอะครับ

ที่สำคัญก็คือ อย่าใส่สิ่งที่ไม่จำเป็นกับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร เพื่อแค่ให้เรซูเม่ดูเต็มๆ หรือมีอะไรเด็ดขาดนะ เพราะจะทำให้พนักงานฝ่ายสรรหาบุคลากรมองว่า คุณยังไม่ได้สนใจในสายงานนั้นๆขนาดนั้น แล้วก็เลือกที่จะให้โอกาสกับเด็กจบใหม่อีกคนที่เขียนประสบการณ์ตรงกับตำแหน่งงานมากกว่า

8. ข้อมูลที่ดี มีการจัดระเบียบที่ดี มีค่ามากกว่าเรซูเม่สวยๆ

หลายๆคนก็คงจะเคย โหลดธีมเรซูเม่สวยๆ มาใช้บ้าง ใช่ไหมครับ เป็นเรื่องจริงที่ของสวยๆงามๆใครก็ชอบ แต่สวยแล้ว จะต้องมีข้อมูลที่ดี และการจัดระเบียบข้อมูลให้อ่านง่ายสบายตา ถือว่าเป็นเรซูเม่ที่ดีกว่าสวยอย่างเดียวมากหลายสิบเท่าตัวเลย ดังนั้นจัดระเบียบข้อมูลให้ดีๆนะ