หลายครั้งที่ได้คุยกับคนทำงานบริการ มักมองเรื่องหน้าตา เสื้อผ้า ความรู้เป็นอันดับต้นๆ เช่นการรับพนักงานต้องเลือกที่หน้าตา บุคลิกภาพ การแต่งกาย ความรู้ ฯลฯ จนลืมเรื่องของ ทัศนคติกับงานบริการ

คุณให้บริการได้ดีกว่าที่คุณคิด หากคุณเข้าใจในเรื่องเหล่านี้

ศักยภาพของคุณ
ทัศนคติของคุณ
ความเชื่อของคุณ

ทัศนคติกับงานบริการ

หลักพื้นฐานของการบริการ

เมื่ออยู่ในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการ การสร้างกรอบความคิดเชิงบวกกับผู้รับบริการ และได้รับการพัฒนาทักษะ การให้บริการ เพื่อเข้าใจในความต้องการและความคาดหวัง (Expectation) ของลูกค้า และสามารถสร้างความพึงพอใจ (Satisfaction) มีความพร้อม (Readiness) ทั้งความรู้ในระบบงาน การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) การให้ความสนใจ (Interest) และ มีไมตรีจิต (Courtesy) ช่วยทำให้เกิดคุณค่า (Values) ในการบริการนั้นเกินความคาดหวังของผู้รับบริการ

เทคนิคการสร้างทัศนคติเชิงบวกในการให้บริการ

  1. ทัศนคติเป็นทางเลือก เหตุการณ์ต่างๆที่เข้ามา ล้วนมีเหตุมีที่มา เพียงแต่เราอาจไม่ทันคิดถึงเมื่อเจอเหตุการณ์นั้นกับตัวเอง หากเราตระหนักว่าเราสามารถที่จะเลือกมุมคิด ทั้งแง่ดีและแง่ที่เป็นประสบการณ์ เราก็จะสามารถสร้างบริการที่ดีได้  
  2. ทัศนคติของคุณบอกการกระทำของคุณ การตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ เกิดจากการที่เราหยิบเอา ความเชื่อ ความรู้ ประสบการณ์ และ คุณค่า ของเรากับเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อสร้างชุดความรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามานั้น หากมุมมอง หรือ ประสบการณ์ที่เรามีกับเหตุการณ์นั้นเป็นเชิงลบ การตอบสนองของเราโดยธรรมชาติก็จะเป็นไปตามความคิด ความรู้สึกของเราในขณะนั้น ดังนั้น หากเราต้องการที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าในรูปแบบใหม่ เราต้องเปลี่ยนมุมมองของเราต่อสิ่งนั้น การสร้างทัศนคติเชิงบวกจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให่เราเปลี่ยนแปลงการตอบสนองของเราได้
  3. เมื่อเราไม่อยู่ในหน้าที่ผู้ให้บริการ ควรหลีกเลี่ยงบุคคลที่มีมุมมองเชิงลบ หรือ บรรยากาศลบๆ เพื่อเก็บและสร้างพลังเชิงบวกไว้ เพราะ เหตุการณ์ที่เราให้บริการนั้น มักมาจากความต้องการความช่วยเหลือจากผู้รับบริการของเราอยู่แล้ว ซึ่งก็จะทำให้เราหมดพลังไประหว่างให้บริการนั้น
  4. ฝึกฝนในการค้นหา และเลือกมุมมองในแง่ดี กับเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่ดีบ่อยๆ หากเรามองเหตุการณ์ต่างๆไม่ดีอารมณ์ และ การตอบสนองของเรา มักจะออกมาตามสัญชาตญาณเอาตัวรอด ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งเร้าที่ไม่ดีให้กับผู้อื่น
  5. หมั่นเติมเต็ม ความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการบริการนั้นๆของคุณ เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการให้บริการของคุณ ก็จะสร้างความมั่นใจในการบริการของคุณ นำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อผู้รับบริการในท้ายที่สุด
  6. ให้กำลังใจตัวเองให้เป็น โดยการชมตัวเองบ้าง หากเกิดความรู้สึกท้อ ลองนึกถึงเรื่องภูมิใจต่างๆที่ผ่านมา ก็จะช่วยทำให้ ความคิด ความรู้สึกกับเรื่องต่างๆมีมุมมองที่ดีขึ้น